แสงสุดท้ายใน สีป้อ ลมหายใจแห่งรัฐฉาน

13 สิงหาคม 2018, 12:48:54

แสงสุดท้ายใน..."สีป้อ" ลมหายใจแห่งรัฐฉาน



วัดประจำเมืองสีป้อ...ที่ตั้งของเจดีย์บอจู พญา

หลังกินอาหารเช้าเสร็จ คณะของเราต้องรีบเก็บข้าวของไปรอขึ้นรถไฟเที่ยวเช้าที่สถานี พิน อูล วิน เพื่อเดินทางสู่เมืองสีป้อ เมืองอันเป็นตำนานรักอมตะของเจ้าชายแห่งรัฐฉานกับสาวชาวออสเตรีย ซึ่งบันทึกผ่านหนังสือ Twilight Over Burma : My Life as a Shan Princess ที่คุณมนันยาเธอแปลเป็นภาษาไทย และตั้งชื่อใหม่เสียงดงามว่า “สิ้นแสงฉาน”




สถานีรถไฟเมืองพิน อูล วิน คลาคล่ำไปด้วยฝรั่งจากซีกโลกตะวันตก ที่ส่วนใหญ่เดินทางสู่รัฐฉานเพื่อสัมผัสกลิ่นอายแห่งวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยในเมืองเล็กๆที่ยังมีลมหายใจไม่ถูกทุนนิยมจากซีกโลกไกลโพ้นกลืนกินจนแทบหาอัตลักษณ์ตัวตนของคนไตแทบไม่ได้





หัวจักรรถไฟสมัยอังกฤษยังคงทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง รถไฟวิ่งมาตามเส้นทางเดียวกับที่ทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองได้เห็นเมื่อยาตราทัพสู่จีน

4 ชั่วโมงบนรถไฟเราได้สัมผัสความงามของทุ่งหญ้า หุบเขา ภูสูง ที่ต้องบอกว่า หากไม่มีใจมุ่งมั่นสู่จุดหมายปลายทางกันจริงๆแล้ว ก็ยากที่จะบากบั่นมาถึงได้





 


ไฮไลต์ของเส้นทางนี้ อยู่ที่ สะพานก็อกเต็ก (Gokteik) ซึ่งถือว่าเป็นสะพานรถไฟที่สูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก และเป็นสะพานรถไฟที่เก่าแก่และยาวที่สุดในพม่า





สะพานก็อกเต็ก ทอดยาวผ่านหุบเหวในจุดที่ลึกที่สุดของภูเขาสูงถึง 330 เมตร ขณะที่ตัวสะพานสูง 95 เมตร ยาว 650 เมตร ตามบันทึกเขียนไว้ว่า สะพานนี้สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1903 โดยบริษัทเพนซิลเวเนีย สตีล ของสหรัฐอเมริกา รถแล่นมาบนสะพานผ่าน เมืองจ๊อกแม (Kyaukme) ซึ่งมีชื่อเสียงในฐานะเมืองที่มีการจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลองของรัฐฉานในราวเดือนมีนาคม ซึ่งจะมีชาวไทยใหญ่จากที่ต่างๆเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

เรามาถึงสีป้อในช่วงบ่าย หลังจากซดก๋วยเตี๋ยวไทยใหญ่ชามโตแล้ว “ตีดา” ไกด์ชาวไทยใหญ่ที่พิสมัยการถ่ายรูปเป็นชีวิตจิตใจ พาพวกเราไปไหว้พระที่วัดเจดีย์พระสี่องค์ หรือที่เรียกว่า บอจู พญา ซึ่งถือเป็นวัดที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองสีป้อ

วัดนี้มีตำนานเล่าขานกันมาว่า เสาแต่ละต้นที่อยู่ในเจดีย์พระสี่องค์ล้วนปิดทองคำแท้เหลืองอร่าม แสดงถึงศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาของชาวไทยใหญ่ที่นี่นอกจากพระสี่องค์ในเจดีย์ของวัดนี้แล้ว ด้านตะวันออกของเจดีย์ มีต้นไม้ใหญ่สูงชะลูดอยู่ต้นหนึ่ง ถามไกด์ได้ความว่า ต้นไม้นี้เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ หลังจากที่มีการสร้างเจดีย์แล้ว ได้มีการนำเศษไม้ ที่เหลือจากการสร้างพระมากองรวมกันไว้ ต่อมาเศษไม้นั้นได้กลายมาเป็นต้นไม้ใหญ่ ชาวไทยใหญ่เรียกต้นไม้ต้นนี้ว่า...สกาเปน





ออกจากวัดเจดีย์พระสี่องค์แล้ว ก็ได้เวลาเดินทางสู่วังสีป้อ สถานที่อันเป็นตำนานรักลือลั่น ของเจ้าฟ้าสัจจาแสง (Satkyan Sang) กับชายาชาวออสเตรีย ซึ่งพบรักกันสมัยที่เจ้าแสงเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

เจ้าแสงฝน หลานสะใภ้ของเจ้าแสงต้อนรับคณะของพวกเราด้วยรอยยิ้มและมิตรไมตรี Where are you from? สำเนียงภาษาอังกฤษชัดถ้อยชัดคำของเธอ สะท้อนว่า สะใภ้แห่งเจ้าฟ้าผู้นี้ จบการศึกษาจากต่างประเทศแน่นอน




 


เธอเล่าว่า ตัวเธอเองเป็นธิดาของเจ้าฟ้าเมืองไหง ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองสีป้อนัก ต่อมาเมื่อแต่งงานกับสามีซึ่งเป็นหลานของเจ้าสัจจาแสง เธอจึงย้ายมาอยู่ที่สีป้อ และปัจจุบันก็ทำหน้าที่ดูแลรักษาวังนี้ให้เป็นอนุสรณ์แห่งเจ้าฟ้าเมืองสีป้อ ผู้ซึ่งนำพาความเจริญในหลายๆด้านมาสู่เมืองสีป้อ ก่อนจะถูกทหารพม่าจับตัวไปและไม่ได้กลับมาที่วังนี้อีก





ภายในวังนอกจากอาคารที่เป็นที่พักอาศัยแล้ว ยังมีหอธรรม ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่สวดมนต์และปฏิบัติธรรมของเจ้าสัจจาแสง ซึ่งทรงมีนิสัยฝักใฝ่ในธรรมอยู่ไม่น้อย

แม้วังสีป้อจะดูเก่าและทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ร่องรอยของความเจริญด้วยความคิดอันทันสมัยของเจ้าฟ้าพระองค์นี้ยังคงปรากฏให้เห็นในมุมเล็กๆของวังที่กลายมาเป็นบ้านของลูกหลานและคนในตระกูลสืบมาจนถึงปัจจุบัน



พวกเราพักค้างคืนในเมืองสีป้อ แสง สี เสียงและความเจริญกำลังคืบคลานเข้าสู่เมืองเล็กๆของรัฐฉานแห่งนี้ จากบ้านไม้ที่มีนอกชานใหญ่โตในอดีต ถูกเปลี่ยนเป็นตึกหลังโตเพื่อทำเป็นที่พักบ้าง ร้านอาหารบ้าง คาดว่าอีกไม่นานนี้ ถ้าไม่รีบมาเที่ยวสีป้อเสียก่อน เราอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นลมหายใจแห่งไตและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำยาวแห่งนี้อีกแล้ว




“อยู่ดี กินหวาน” คำทักทายของแม่ค้าชาวไทยใหญ่ในตลาดแสงเทียน เมืองสีป้อ ซึ่งเป็นตลาดยามเช้าของที่นี่ ฟังเสนาะหู เช่นเดียวกับบรรยากาศในตลาดที่ดูน่ารัก ปลาที่ถูกจับได้จากแม่น้ำถูกนำขึ้นมาขายกันแบบสดๆ ผักกำโตๆ กับผลไม้ลูกใหญ่ ที่ล้วนปลูกเองในไร่ในนา สนนราคาก็ไม่แพงนัก ขายได้เป็นขาย ไม่ต้องต่อรองมาก ยิ่งเมื่อเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าสาวไทยใหญ่ที่อาบด้วยทานาคาเต็มสองแก้มแล้ว ยิ่งไม่คิดที่จะต่อรองให้เสียเวลา





แดดเริ่มแรงขึ้น เรายังพอมีเวลาเหลือก่อนเดินทางสู่เมืองแสนหวี พวกเราจึงคิดโปรแกรมแบบกะทันหัน ด้วยการเหมาเรือล่องแม่น้ำยาว หรือที่ชาวไทยใหญ่เรียกว่า แม่น้ำโดทาวดี ไปชมวิถีชีวิตบ้านไทยใหญ่ตามริมฝั่งแม่น้ำ ลัดเลาะไปดูวัด และบ้านเรือนของคนไทยใหญ่ ผู้ชายไทยใหญ่กับรอยสักที่แสดงถึงความเป็นชายชาตรี เคยอ่านหนังสือเห็นว่า ผู้หญิงบางคนที่ไปเป็นทหาร หรือที่เรียกว่า “นางหาญ” ก็มีการสักเช่นนี้เหมือนกัน อีกอย่างที่น่าสนใจของคนไทยใหญ่ในรัฐฉานก็คือ การนับถือผีเมืองหรือ โกเมียวเฉียน หรือ เจ้าเก้าเมือง ในศาลเจ้าซึ่งเรียงรายอยู่หลายแห่งในเมือง มีรูปปั้นรูปเคารพ โกเมียวเฉียน ที่บางครั้งก็เรียกว่า ฉานโบโบจี แปลว่าเจ้าปู่หลวงไต ส่วนรูปปั้นผู้หญิง ชื่อว่า ปะเลหยิ่น เป็นน้องสาวของโกเมียวเฉียน คนไตโหลงหรือไทยใหญ่นับถือศาลเหล่านี้เหมือนเป็นศาลผีประจำชุมชน





 เราออกจากเมืองสีป้อ เดินทางสู่เมืองแสนหวี ชื่อเมืองที่ได้ยินมาตลอดจากนิยายปรัมปราเจ้าหญิงแสนหวีที่พลตรีหลวงวิจิตรวาทการเขียนไว้ เพิ่งรู้ว่ามีเมืองนี้อยู่จริงๆในรัฐฉานนี่เอง



แสนหวีวันนี้ ไม่มีอะไรให้เที่ยวมากนัก มีเพียงซากกำแพงหอคำเมืองแสนหวี ที่ถูกญี่ปุ่นทิ้งระเบิดจนราบเป็นหน้ากลองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กลายเป็นอนุสรณ์ให้จดจำ เราแวะเมืองแสนหวีเพื่อดูซากกำแพงและกราบพระที่วัดพระโหลง ซึ่งเศียรพระทำด้วยทองเหลืองขณะที่องค์พระเป็นไม้ไผ่สาน ขอพรเป็นที่เรียบร้อย จึงเดินทางต่อสู่เมืองมูเซ่ เพื่อต่อเที่ยวบินไปยังคุนหมิงก่อนเดินทางกลับเมืองไทย ทิ้งไว้เพียงความทรงจำแห่งรัฐฉาน ที่หากใครอยากไปสัมผัส





แต่ที่แน่ๆก็คือ หากต้องการสัมผัสลมหายใจในรัฐฉานจริงๆแล้ว มีเงินอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมีใจที่มุ่งมั่นด้วย เพราะการเดินทางแบบนี้ เหมือนที่นิยายกำลังภายในของโกวเล้งเขียนไว้ไม่มีผิด

ว่า..... ......ทางที่ไม่เคยไปมักไกลเสมอ....!!!!!!!


ขอบคุณ - 
https://www.thairath.co.th/content/396807



****************************************************************************
บริการจัดทัวร์ 
เชียงตุง เมืองยอง สิบสองปันนา คุนหมิงจีน หลวงพระบาง วังเวียงลาว มัณฑเลย์ พุกาม ทะเลสาบอินเล ตองจีรัฐฉาน

บริษัท เชียงตุงเรียลเอสเตท แอนด์ ทราเวล จำกัด
เลขที่ใบอนุญาต 21/00833
โทร : 092-891-2277,093-2537733,053-727255
ไลน์ไอดี : @chiangtung
เว๊ปไซค์ : www.chiangraitv.com
youtube:http://bit.ly/2HDFdMO
 

บทความที่คุณอาจสนใจ

สิบสองปันนา ในประเทศจีน ทำไมชื่อและความหมายเป็นภาษาไทย แท้จริงเป็นมาอย่างไร

ปัจจัยเกี่ยวกับการนำศพไปป่าช้าหรือเรื่องราว วัสดุสิ่งของเกี่ยวกับผียังมีหม้ออีกอย่างหนึ่งที่ผู้คนล้านนาสมัยก่อนได้ใช้นำหน้าขบวนศพไปสู่ป่าช้า ผู้คนเรียกกันว่า หม้อไฟ ก่อนที่จะนำศพไปป่าช้าผู้คนที่มาร่วมงานกุศลศพจะช่วยกันเตรียมหม้อไฟ โดยการไปซื้อหม้อต่อม(หม้อก้นกลม ปากผาย) มาเตรียมไว้เสร็จแล้วนำลวดมาทำสาแหรกเพื่อวางหม้อไฟผูกสาแหรกติดกับปลายคันไม้สำหรับแบก

ประวัติเรือรบไทย ของกรมยุทธการทหารเรือ การปรับปรุงเสริมสร้างป้อมพระจุลเกล้า เพื่อปกป้องอธิปไตยของไทย

ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีกบฏจากไพร่ถึง 3 ครั้ง และในนั้นรวมถึง กบฏญาณพิเชียรด้วย...

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯรัชกาลที่4ทรงโปรดเกล้าให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระแก้วขึ้น ด้วยทรงเห็นว่าวัดพระแก้วในเวลานี้ทรุดโทรมลงมาก

บริษัท ไชยนารายณ์ โกลเบิ้ล จำกัด

66 หมู่1 ถนนโชคชัย4 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพ 10320

Tel ซื้อสินค้า : 063 5599 896

Tel ซื้อสินค้า : 092 891 2277

Tel ท่องเที่ยว :

Line ซื้อสินค้า : @chainarai

Line ท่องเที่ยว : @chainarai

Email : chainarai456@gmail.com

แผนที่

เพจ สิบสองปันนา หลวงพระบาง

เพจ เชียงตุง อยู่ดีกินหวาน